วันอาทิตย์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

คู่ชีวิตไม่จำกัดที่คู่สมรส


คู่ชีวิตไม่จำกัดที่คู่สมรส.....
คู่ชีวิตโดยทั่วไปหมายถึงคู่สมรส ปัจจุบันค่านิยมเปลี่ยนแปลงไป วัยทองสูญเสียคู่สมรสมีอยู่ไม่น้อย  ดังนั้น คำนิยามคู่ชีวิตควรขยายกว้างออกไป หมายรวมถึงผู้ที่เป็นเพื่่่อนในยามแก่ ไม่เฉพาะ เจาะจงต้องเป็นคู่ผัวตัวเมียที่บ้าน
                                                            
หมั่นผูกมิตรหาคู่ชีวิต เติมสีสันในวัยทอง
ค่ำวันหนึ่ง ดิฉันรับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ การบริหารความเครียด ให้แก่บริษัทที่ปรึกษาแห่งหนึ่ง ดิฉันสังเกตเห็นมีผู้วัยทองคนหนึ่งน่าสนใจมาก เพราะผู้ฟังในห้องล้วนเป็นชายหญิงอายุขึ้นต้นเลข 3 หรือ 4 เท่านั้น ทำไมมีคนแก่ที่ดูท่าทางตั้งอกต้องใจมาร่วมฟังด้วย
            ผมกลัวเป็นโรคอัลไซเมอร์ ก็เลยมาขอเรียนด้วยคน ผู้พูดอายุกว่า 70 เห็นจะได้ แต่เสียงพูดเต็มไปด้วยกำลังวังชา เดินเหินอย่างคล่องแคล่ว ท่านคือ มร.วู ประธานบริษัทใหญ่แห่งหนึ่งในไต้หวัน ผู้ผลิตปลากระป๋องที่ดิฉันชื่นชอบ  
ดิฉันเห็นว่าเป็นโอกาสทองหายาก จึงเรียนเชิญท่านขึ้นเวที ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที แนะนำหน้าที่การงานและเรื่องราวชีวิตส่วนตัวต่างๆ ถือเป็นวิทยาทานแก่คนหนุ่มสาวในห้อง  เพราะความสำเร็จใน
ชีวิตของท่านคือขุมทรัพย์สำหรับการเรียนรู้
คนประเภทคล้ายประธานวูมีอยู่ไม่น้อยในแวดวงสังคมเรา คนเหล่านี้ไม่ถือตัวว่าร่ำรวยหรือมีตำแหน่งสูง กลับยังพยายามเรียนรู้จากชีวิต ใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าในแต่ละวัน เป็นผู้น่าเคารพนับถือและเป็นเยี่ยงอย่างที่สำหรับเราทุกคน      
ดิฉันรู้จักยายซิ้มคนหนึ่ง ทุกครั้งที่ไปออกกำลังกายในสวนสาธารณะ มักจะได้เห็นเรือนร่างผอมเล็กของยายซิ้ม ซึ่งอายุกว่า 70 แล้ว เดินไม่มั่นคงนัก แต่เธอมักจะก้าวเท้ารวดเร็ว ยิ้มแย้มทักทายกับผู้คน เธอดูเป็นคนสุขนิยม มาออกกำลังกายสม่ำเสมอไม่เว้นฝนตกแดดออก เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับคำขวัญที่ว่า อยู่ให้นาน อยู่ให้สุข เป็นผู้ที่น่านับถืออีกคนหนึ่ง
            ปัญหาคือ  ทุกวันนี้ยังมีชาววัยทองไม่น้อยที่ไม่สามารถออกจากกรงประตูบ้าน ได้แต่บ่นพรำทั้งวัน นับแต่ลูกๆต่างมีครอบครัว ตนเองเกษียณอยู่กับบ้าน อยู่ไปวันๆซ้ำซากไร้สีสัน มีแต่ความว่างเปล่าเดียวดาย 
 
ชาววัยทองต้องมีแผนชีวิต
            อันที่จริง ชาววัยทองควรวางแผนชีวิตวัยทองสำหรับอีก 20-30 ปีข้างหน้า สมัยวัยไฟแรง แผนชีวิตเน้นที่การงาน การเงิน ลูกเต้าและการเจริญเติบโต โดยละเลยแผนสุขภาพ การพักผ่อนหย่อนใจและบริการสังคม
                หลังเกษียณ สุขภาพกลายเป็นแผนอันดับแรก แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังมองข้ามการพักผ่อนหย่อนใจและบริการสังคม
            มีผู้วัยทองท่านหนึ่งซึ่งดิฉันนับถือเป็นตัวอย่างสุดยอดในชีวิต หลังเกษียณเธอยังดำเนินชีวิต
อย่างมีสีสัน ถ่ายรูป วาดเขียน ท่องเที่ยว ร่ำเรียน พบเพื่อน เป็นรายการส่วนใหญ่ในชีวิต ดิฉันเคยถามท่านว่า ไม่ต้องช่วยเลี้ยงหลานหรือ เธอตอบอย่างไม่ลังเลว่า นั่นเป็นเรื่องของลูก ธุระของฉันเองก็ทำไม่หวัดไม่ไหวอยู่แล้ว
            สรุปคือ แผนชีวิตต้องดำเนินอย่างต่อเนื่องตลอดไป เพียงแต่ต้องปรับอันดับก่อนหลังในระยะที่ต่างกัน แนวคิดเกี่ยวกับคู่ชีวิต ในการวางแผนสำหรับชาววัยทองแล้ว จำเป็นต้องไตร่ตรองในมุมกว้าง
 
คุณมีคู่ชีวิตกี่คน
                คู่ชีวิตมีความสำคัญยิ่งในโลกของคนวัยทอง เพราะลูกๆ แยกไปอยู่ต่างหากหรือไม่ก็ง่วนอยู่กับธุระของเขาเอง ผู้วัยทองมีเพื่อนคุยรอบข้างหรือไม่จึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้าม ฉะนั้น ชาววัยทองต้องออกจากบ้าน เข้าสู่ชุมชน มีปฏิสัมพันธ์กับสังคม โดยเฉพาะต้องไปคบหาคู่ชีวิต 
 
ใครบ้างที่เป็นคู่ชีวิตคุณได้
1.    พี่น้องจากครอบครัวเดิม
2.    ลูกหลานและคนรุ่นใหม่
3.    เพื่อนร่วมเรียนและเพื่อนร่วมงานในอดีต
4.    ชาวบ้านในชุมชน
5.    สมาชิกในชั้นเรียนผู้ใหญ่
6.    ศาสนิกชนกลุ่มต่าง ๆ
7.    อาสาสมัครที่มาเยือนตามบ้าน
 
ลองใช้เวลาสัก 5 นาที จดดูว่าปัจจุบันคุณมีคู่ชีวิตทั้งหมดกี่คน หากมีมากกว่า 20 คน แสดงว่าชีวิตวัยทองของคุณมีสีสันมาก หากมี 10 คนขึ้นไป ถือว่ามีสีสันพอสมควร หากมีเพียง 5 คนโดยประมาณ ต้องสำนึกว่าเกิดวิกฤตกาลแล้ว เพราะเครือข่ายสนับสนุนนับวันอ่อนแอลง วันเวลาแห่งภาวะถดถอยนับวันย่างใกล้เข้ามา
            แป๊ะแก่ผู้หนึ่งฟังคำแนะนำจากเมีย ไปร่วมวงกับ คณะกินดื่มเที่ยวเล่น เขายิ้มหราคุยว่า ชีวิตผมมีเพื่อนเพิ่มขึ้น 20 กว่าคน วันนี้ไปไต่เขา วันรุ่งไปดูนิทรรศการภาพเขียน อีกวันไปชิมอาหารชนบท เราเวียนกันเป็นเจ้าภาพ ใช้เงินไม่มาก เพิ่มรสชาติแก่ชีวิตมากโข
            แสดงว่าคู่ชีวิตยิ่งมากยิ่งดี เพราะแต่ละคนมีประสบการณ์ชีวิตที่ต่างกัน สั่งสมภูมิปัญญาชีวิตคนละแบบ เมื่อจุดประกายชีวิตพร้อมกัน  ก่อให้เกิดเสียงหัวเราะเฮฮา กระตุ้นความคึกคะนองขึ้นมา
            โปรดจำไว้  คู่ชีวิตอย่ามีหนึ่ง มากได้ยิ่งดี  ฉะนั้น หมั่นจับตาเป้าหมายรอบข้างนะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น